
กระดูกหัก
กระดูกหัก (ภาษาอังกฤษ : Bone fracture, Fracture หรือ Broken bone) คือ การมีรอยแยก รอยแตก หรือมีความไม่ต่อเนื่องกันของเนื้อกระดูก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงมากระทำมากเกินไปจนทำให้กระดูกหักและก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ในปัจจุบันนี้การรักษากระดูกหักมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก สามารถรักษาให้หายกลับมาใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องพิการจากความผิดรูปหรือกระดูกสั้นยาวไม่เท่ากันอีกต่อไป
การปฐมพยาบาลกระดูกหัก
โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะเคยกระดูกหักประมาณ 2 ครั้งในชีวิต แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ยากเลย เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงควรให้ความสำคัญที่จะเรียนรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลกระดูกหักที่ถูกวิธีเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัว หรือคนอื่น ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้
- ประเมินบริเวณที่บาดเจ็บ เพราะแผลบาดเจ็บจากอุบัติเหตุนั้นไม่ได้เป็นการรับประกันว่ากระดูกจะหัก ส่วนกระดูกที่หักหรือร้าวที่เกิดบริเวณศีรษะ กระดูกสันหลัง หรือสะโพกนั้นก็ยากที่จะบ่งชี้ได้โดยไม่ปราศจากการเอกซเรย์ หากสงสัยว่ามีกระดูกมีการหักหรือร้าวที่บริเวณเหล่านี้ไม่ควรทำการเคลื่อนย้ายใด ๆ ถ้าไม่ได้ผ่านการฝึกมาก่อน ส่วนกระดูกที่แขน ขา นิ้วมือ และนิ้วเท้านั้น เวลาหักเรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันบิด เบี้ยว เปลี่ยนทรง หรือไม่เข้าที่ (ต้องประเมินบาดแผลโดยไม่ขยับมันบ่อย)
- โทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุดหากบาดแผลนั้นรุนแรงและคิดว่ากระดูกน่าจะหัก แต่ในกรณีที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลและค่อนข้างมั่นใจว่าการบาดเจ็บนั้นไม่รุนแรงและเป็นแค่กระดูกระยางค์ ผู้ให้การช่วยเหลืออาจตัดสินใจขับรถพาผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลเองได้เลย (ผู้บาดเจ็บห้ามขับรถมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แม้การบาดเจ็บนั้นจะไม่รุนแรงก็ตาม)
- ทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีซีพีอาร์ (CPR) หากผู้บาดเจ็บไม่หายใจและผู้ช่วยเหลือตรวจหาไม่พบสัญญาณชีพจรตรงข้อมือหรือต้นคอ โดยให้เริ่มทำ CPR (ถ้าคุณรู้วิธีทำ) ก่อนที่รถพยาบาลจะมาถึง รวมทั้งพยายามทำให้ผู้ป่วยมีสติ
- ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดก่อนเสมอไม่ว่ากระดูกจะหักหรือไม่ เพราะการที่เลือดไหลออกจากเส้นเลือดใหญ่จะทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที โดยวิธีการห้ามเลือดนั้นให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดดูดซึมได้ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมากดตรงบาดแผลแน่น ๆ แต่ถ้าไม่มีให้ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าสะอาดพันทบหนา ๆ หลายชั้นแทนได้ในกรณีฉุกเฉิน และกดวางบนปากแผลแล้วใช้นิ้วหรืออุ้งมือกดห้ามเลือดเอาไว้ หรือรัดให้แน่นด้วยผ้าพันแผลรอบบาดแผลด้วยเทปยืดหรือเศษผ้าถ้าทำได้
- ถ้าบาดแผลใหญ่หรือเลือดยังไม่หยุดไหลหรือไหลรุนแรง ให้หาสายรัด (เช่น เชือก สายไฟ เน็คไท ผ้าพันคอ) มาผูกรัดเหนือบาดแผลให้แน่น ๆ ชั่วคราวจนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง (ให้คลายสายรัดทุก ๆ 15 นาที โดยคลายนานครั้งละประมาณ 30-60 วินาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลก็ให้รัดกระชับเข้าไปใหม่)
- ถ้ามีชิ้นส่วนใหญ่ ๆ ทิ่มฝังเข้าไปในเนื้อ อย่าพยายามเอามันออก เพราะอาจทำให้เกิดการเสียเลือดมากมาย
- ดามกระดูกที่หัก เมื่ออาการของผู้บาดเจ็บคงที่แล้ว หากคุณต้องใช้เวลารอรถพยาบาลนานเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไปควรทำการดามกระดูกที่หัก เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและป้องกันกระดูกที่หักเสียหายไปมากกว่าเดิมจากการขยับเขยื้อนโดยไม่ตั้งใจ (แต่การดามกระดูกเองอาจไม่จำเป็นสักเท่าไหร่หากรถพยาบาลกำลังจะไปถึง เพราะหากทำไม่ถูกวิธีก็อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่าเดิมได้)
- การดามกระดูกชั่วคราวแบบง่าย ๆ สามารถทำได้โดยการใช้แผ่นไม้ พลาสติกแข็ง ไม้บรรทัด กิ่งไม้ ท่อนไม้ ท่อนโลหะ ด้ามร่ม กระดาษแข็ง กล่องกระดาษ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารพับทบหลาย ๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบกับส่วนที่หัก โดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก (เช่น ถ้าขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น) และควรมีสิ่งนุ่ม ๆ รองรับผิวหนังของอวัยวะส่วนนั้นอยู่เสมอ แล้วรัดทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยใช้เทป เชือก ด้าย สายไฟ เน็คไท ผ้าพันคอ เป็นต้น (ต้องรัดให้แน่นพอควร แต่อย่าแน่นมากจนเกินไป เพราะจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดทำให้เกิดอันตรายได้ และต้องระวังอย่าให้ปมเชือกไปกดบาดแผล พร้อมกับคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะ ๆ เพราะอาจมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง)
- ไม่วางเฝือกที่ดามลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นที่นุ่ม ๆ รองรับ เช่น ผ้าหรือสำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบนบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดและเกิดแผลจากเฝือกกดได้
- อย่าพยายามดึงข้อหรือจัดกระดูกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง บริเวณที่ดามเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโก่ง โค้ง หรือคด ก็ควรดามเฝือกในท่าที่เป็นอยู่
- ถ้าส่วนที่หักเป็นปลายแขนหรือมือ ให้ใช้ผ้าคลองคอ
- ถ้าส่วนที่หักเป็นนิ้วมือ ให้ใช้ไม้ไอศกรีมดามนิ้ว
- ถ้าส่วนที่หักเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ปกติอีกข้างทำเป็นเฝือกแทน โดยการใช้ผ้าหรือกระดาษหนา ๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้างหลาย ๆ เปลาะ
- ประคบน้ำแข็งตรงบาดแผล เมื่อกระดูกที่หักได้รับการดามแล้ว ถ้าเป็นไปได้ให้หาถุงน้ำแข็งมาประคบทันทีในระหว่างที่รอรถพยาบาล (ควรใช้ผ้าบาง ๆ มาพันรอบของที่เย็นก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนน้ำแข็งกัด) เพราะการประคบเย็นนี้จะช่วยลดอาการปวด ลดอาการบวมอักเสบ และลดการไหลของเลือดได้ โดยการประคบเย็นให้ประคบไว้นานประมาณ 20 นาทีหรือจนกว่าบริเวณนั้นจะรู้สึกชาก่อนแล้วค่อนเอาออก (การกดน้ำแข็งไว้บนบาดแผลอาจช่วยลดอาการบวมได้มากขึ้นตราบเท่าที่มันไม่ไปทำให้ปวดเพิ่มขึ้น และในขณะที่ประคบน้ำแข็ง ให้ยกช่วงกระดูกที่หักให้สูงขึ้นด้วยเพื่อช่วยลดอาการบวมและชะลอการไหลของเลือด ถ้าทำได้)
- ตั้งสติและมองหาสัญญาณการเกิดภาวะช็อค เพราะปฏิกิริยาส่วนใหญ่ที่พบเห็นของผู้ป่วยคือ ความรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก และช็อค ผู้ให้การช่วยเหลือจึงควรพูดให้ความมั่นใจว่ารถพยาบาลกำลังมาถึงและทุกอย่างจะปลอดภัย ในระหว่างที่รอให้หาอะไรมาห่มให้ผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความอบอุ่นด้วย และพยายามชวนคุยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการบาดเจ็บ
- พิจารณาให้ยาแก้ปวด ถ้าต้องรอรถพยาบาลนานเกิน 1 ชั่วโมง (หรือคุณรู้อยู่แล้วว่าต้องรอนาน) ให้หายาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) มารับประทาน (ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะยาชนิดนี้มีฤทธิ์ห้ามการจับตัวเป็นก้อนของเลือด จึไม่เหมาะที่จะใช้รักษาการบาดเจ็บของอวัยวะภายในอย่างกระดูกหัก)
- คำแนะนำสำคัญที่คุณจำเป็นต้องรู้
- หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ เพื่อลดการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- ถ้ากระดูกหักโผล่ออกมานอกเนื้อ ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จากภายนอกเข้าไปในบาดแผลและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย แต่ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผลเอาไว้ใช้เฝือกดาม แล้วรอรถพยาบาล
- ในผู้ป่วยที่กระดูกหักตรงขาส่วนบน กระดูกสันหลัง ศีรษะหรือคอ อุ้งเชิงกรานหรือสะโพก ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย และให้รอจนกว่ารถพยาบาลจะมา เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ผิดวิธีจะทำให้บริเวณดังกล่าวบาดเจ็บมากกว่าเดิม
- งดให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารจนกว่าจะไปพบแพทย์ เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายนั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
กระดูกหักมีกี่ชนิด
กระดูกหักวิธีการแบ่งชนิดได้หลายแบบ ดังนี้
- แบ่งตามบาดแผล โดยทั่วไปกระดูกหักจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
- กระดูกหักชนิดไม่มีแผล หรือ แผลไม่ถึงกระดูกที่หัก (Closed fracture) จะมีอาการกระดูกหักเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกจะไม่โผล่ออกมานอกผิวหนัง
- กระดูกหักแบบแผลเปิด หรือ แผลลึกถึงกระดูกที่หัก (Compound fracture หรือ Open fracture) จะมีบาดแผลซึ่งลึกถึงกระดูก หรือกระดูกที่หักอาจทิ่มแทงทะลุออกมานอกเนื้อ ถือเป็นชนิดร้ายแรง เพราะอาจทำให้ตกเลือดรุนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย หรือติดเชื้อได้ง่าย และเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียแขนขาได้
- แบ่งตามรอยที่มีการหักของกระดูก
- กระดูกหักทั่วไป (Simple fracture) คือ กระดูกที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น
- กระดูกหักแตกย่อย (Comminuted fracture หรือ Segmental fracture) คือ ภาวะที่กระดูกแตกออกเป็น 3 ชิ้นขึ้นไป
- กระดูกหักเฉียง (Oblique fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
- กระดูกหักตามขวาง (Transverse fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางซึ่งเป็นส่วนที่สั้นของกระดูก (ไม่ได้เกิดรอยแตกไปตามแนวยาวของกระดูก)
- กระดูกหักเป็นเกลียว (Spiral fracture) คือ ภาวะกระดูกที่หักเป็นเกลียวซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิด
- กระดูกยุบตัว (Compression fracture) คือ กระดูกที่เกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
- กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted fracture) คือ ภาวะที่กระดูกทั้ง 2 ด้านได้รับแรงกด ส่งผลให้กระดูกแตกทั้ง 2 ด้าน เด็กเล็กมักเกิดกระดูกหักฝังที่แขน
- กระดูกเดาะ (Greenstick fracture) คือ กระดูกที่แตกเพียงด้านเดียว ส่วนกระดูกอีกด้านโก่งไปตามแรงกดที่ปะทะเข้ามา มักเกิดขึ้นกับเด็ก เพราะกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ใหญ่
- กระดูกหักล้า (Stress fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ
- ปุ่มกระดูกแตก (Avulsion fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
- กระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม (Displaced fracture)
- กระดูกที่หักร้าว ไม่เคลื่อนที่ ไม่แยกจากกันทั้งสองท่อน (Non-displaced frac ture)
- แบ่งตามพยาธิสภาพของเนื้อกระดูกที่หัก
- กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่ปกติ (Fracture in general)
- กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่อ่อนแอ (Pathological fracture) คือ ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูก แบ่งเป็นหักเพราะกระดูกบาง กระดูกพรุน (Osteoporotic fracture), หักเพราะกระดูกเป็นเนื้องอก, หักเพราะกระดูกติดเชื้อ และหักเพราะเป็นโรคของเนื้อกระดูกแบบอื่น ๆ
- กระดูกหักในเด็ก มีวิธีการแบ่งเพิ่มเติมจากการแบ่งข้างต้น ดังนี้
- กระดูกหักแบบยู่หรือย่นด้วยแรงอัด (Buckle fracture)
- กระดูกหักเฉพาะด้านที่ถูกแรงแล้วหักออกจากกันเหมือนการหักกิ่งไม้ที่ยังเขียวและสดอยู่ (Greenstick fracture)
- กระดูกที่หักผ่านส่วนที่เป็นโรงงานสร้างกระดูก/Epiphysis/ส่วนหัวกระดูกที่อยู่ใกล้กับข้อกระดูก (Epiphyseal plate injury)
- กระดูกโก่งงอโดยไม่มีรอยหัก (Plastic deformation)
สาเหตุของกระดูกหัก
โดยปกติแล้วกระดูกแต่ละส่วนในร่างกายจะมีความแข็งแรงและทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี แต่หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกและหักได้ โดยกระดูกหักมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ประสบอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม รถชน รถคว่ำ เป็นต้น ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
- ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว เช่น จากการเล่นกีฬาที่ต้องลงน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทำให้สะโพก หน้าแข้ง เท้า หรือข้อเท้า เกิดกระดูกปริได้
- ถูกตีหรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
- การตกลงมาจากที่สูง หรือการตกลงมากระแทกกับพื้นที่แข็งมาก
- ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งบางชนิด (ส่งผลทำให้กระดูกเสื่อม ผุ และเปราะ) เมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจกรรมหรือประสบอุบัติเหตุก็จะมีโอกาสที่กระดูกจะหักได้ง่าย (ที่พบได้บ่อย คือ กระดูกต้นขาหรือกระดูกสะโพก)
- ในกรณีของเด็กที่กระดูกหัก อาจเกิดจากการถูกทารุณกรรม
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กระดูกที่หักต่อกันได้ไม่ดี ทำให้แขนขาโก่งได้ และถ้าเป็นกระดูกหักแบบแผลเปิด อาจทำให้หลอดเลือดแดงฉีก ตกเลือดรุนแรงถึงช็อกได้ หรืออาจทำให้เส้นประสาทฉีกขาดเป็นอัมพาตและชาได้ หรือไม่ก็อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ บางรายอาจติดเชื้อเรื้อรังจนกลายเป็นกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง
ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนอาจแบ่งออกเป็นระยะแรกและระยะปลาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนระยะแรก
- อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ เช่น เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ปอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
- เนื้อเยื่อ เส้นประสาท และผิวหนังถูกทำลาย
- หลอดเลือดแดงบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกต้นขาหัก อาจเกิดภาวะหลอดเลือดต้นขาฉีกขาดได้
- เกิดแผลติดเชื้อ
- เกิดภาวะเลือดออกในข้อ (Haemarthrosis)
- เกิดความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)
- สูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก่อให้เกิดปอดบวม หลอดเลือดอุดตัน หรือกล้ามเนื้อสลาย โดยภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่กระดูกซี่โครงหักรุนแรง ทิ่มแทงถูกเนื้อปอด อาจทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือปอดทะลุ (Pneumothorax) หรือมีเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Hemothorax) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบ ตัวเขียว ไอออกเป็นฟองเลือดสด ๆ หรือช็อก และถ้ากระดูกซี่โครงหักหลายแห่ง ซึ่งมักพบในกรณีที่เกิดจากรถคว่ำ รถชน อาจทำให้เกิดภาวะอกรวน (Flail chest) ทำให้มีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก และหายใจผิดธรรมดา
- ภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย
- กระดูกที่หักใช้เวลารักษานานกว่าปกติ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้ หรืออาการไม่หายดี
- การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติหรือกระดูกผิดรูป
- เกิดอาการข้อติดแข็ง
- กล้ามเนื้อหดตัว
- เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบที่มีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) ทำให้มีก้อนกระดูกเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ
- ประสบภาวะกระดูกอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Chronic osteomyelitis)
- เกิดเนื้อตายเน่า (Gangrene)
- หัวกระดูกต้นขาตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
- อาจเป็นบาดทะยักและติดเชื้อในกระแสเลือด