
จมูกไม่ได้กลิ่น – ได้กลิ่นน้อยเกิดขึ้นเพราะอะไร? สาเหตุและวิธีแก้ไข
ปัญหาจมูกไม่ได้กลิ่นเกิดเพราะอะไร?
จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ (ซึ่งเป็นผลทำให้กลิ่นไม่สามารถเข้าไปถึงอวัยวะรับกลิ่นในจมูกได้ หรือทำให้อวัยวะรับกลิ่นไม่ทำงาน) โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ
- การบาดเจ็บที่จมูกหรือที่ประสาทรับกลิ่นจากการผ่าตัดหรือมีอุบัติเหตุที่ศีรษะ ซึ่งอาการจะสัมพันธ์กับความรุนแรงที่ได้รับ (ถ้าโดนกระแทกแรง ๆ ก็มีโอกาสที่จะผิดปกติเรื่องการรับกลิ่นได้สูงกว่าโดนกระแทกเบา ๆ) ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากแรงกระแทกบริเวณด้านหน้าหรือด้านท้ายทอยอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดการกระชากหรือการฉีกขาดของเส้นประสาทรับกลิ่นที่ผ่านลงมาในช่องจมูก นอกจากนี้หากมีการแตกหักของกระดูกบริเวณรอบ ๆ ประสาทรับกลิ่น ก็อาจทำให้ปลายประสาทขาดได้เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสลบ ก็อาจรู้สึกได้ทันทีว่าสูญเสียการรับกลิ่นอย่างฉับพลันหรือทราบภายหลังเกิดอุบัติเหตุได้ไม่นาน
- การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด โดยอาจเป็นจากการเป็นหวัดที่รุนแรงหรือเป็นมานาน ทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นถูกทำลาย ซึ่งในระหว่างที่เป็นหวัดนั้นผู้ป่วยจะไม่ได้กลิ่นและเมื่ออาการหวัดหายไปผู้ป่วยก็ยังคงไม่ได้กลิ่นอยู่เช่นเดิม หากจมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงที่เกิดจากสาเหตุข้อ 1 และ 2 จะมีโอกาสกลับมาปกติได้เอง เพียงแค่รอเวลาครับ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เพราะยังไม่พบว่ามีการรักษาใดจะช่วยในการกลับมาของการรับกลิ่น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าประสาทรับกลิ่นนั้นถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใดด้วย (ถ้าเป็นมานานและเส้นประสาทรับกลิ่นถูกทำลายไปมากก้อาจทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นถาวรได้ครับ)
- โพรงจมูกอุดตันจากเยื่อบุโพรงจมูกบวมหรืออักเสบเรื้อรัง (เช่น จากโรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม) หรือจากริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกของช่องจมูกและโพรงไซนัสที่ไปอุดตันบริเวณรับกลิ่น (บังเซลล์ประสาทรับกลิ่น) ทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปเดินทางไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูกได้น้อย และผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการทางจมูกอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการอื่น ๆ ของโรคนั้น ๆ ส่วนอาการไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีบางครั้งได้กลิ่นดีและได้กลิ่นแย่ลงสลับกันไปมาขึ้นอยู่กับอาการคัดจมูก การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุทำให้โพรงจมูกบวมหรืออุดตันจะทำให้การรับกลิ่นของผู้ป่วยดีขึ้นและหายขาดได้
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง เช่น
- ผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ยาพ่นจมูก, ยาปฏิชีวนะ (เช่น Neomycin), ยาต้านการอักเสบ, ยาต้านซึมเศร้า, ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ (เช่น Amiodarone), ยาฆ่าแมลงหรือตัวทำละลาย, น้ำหอม, สารเคมีจากโลหะแคดเมียม (Cadmium), การสูบบุหรี่มากและนาน, การสูดรับสารพิษอย่างรุนแรง, การเสพโคเคน เป็นต้น
- การมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคทางระบบประสาท (เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองอักเสบ ปลอกประสาทอักเสบ ), โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง, โรคที่มีความผิดปกติของเมตาบอลิซึมในร่างกาย (เช่น โรคเบาหวาน ไฮโปไทรอยด์), โรคหืด, โรคพิษสุราเรื้อรัง, การขาดสารอาหารพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
- การได้รับการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นการฉายรังสีที่บริเวณโพรงจมูก ศีรษะ หรือลำคอ
- การเสื่อมสภาพของประสาทรับกิ่ลไปตามอายุที่มากขึ้น (ผู้สูงอายุ) ซึ่งผู้สูงอายุนอกจากจะมีการมองเห็นและการได้ยินน้อยลงแล้ว การรับกลิ่นยังลดน้อยลงไปด้วย (จะเริ่มลดลงหลังจากอายุ 60 ปี)
การทดสอบการรับกลิ่น
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการรับกลิ่น เมื่อมาพบแพทย์หู คอ จมูก นอกจากแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูกและไซนัสแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการประเมินสมรรถภาพการรับกลิ่นด้วย เพื่อประเมินสมรรถภาพการสูญเสียการรับกลิ่น ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ
- การวัดระดับความสามารถในการดมกลิ่น (Measurement of odorant detection) จะเป็นการวัดระดับความเข้มข้นของกลิ่นที่น้อยที่สุดที่สามารถกระตุ้นเส้นประสาทรับกลิ่น (เส้นประสาทสมองคู่ที่ 1) ของผู้ป่วยได้ ซึ่งเรียกว่า “Smell detection threshold” (SDT) โดยสารที่นำมาใช้ทดสอบการรับกลิ่นที่นิยมใช้กันจะเป็นสาร Phenyl ethyl alcohol ซึ่งมีกลิ่นเหมือนกุหลาบ และกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 (แต่ไม่กระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5)
- ผู้ทำการทดสอบจะเตรียมขวดที่มีสาร Phenyl ethyl alcohol ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน (ตั้งแต่ต่ำสุดไปถึงสูงสุด) และมีขวดเปล่าที่ไม่มีกลิ่นอยู่หลังฉากกั้น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมองเห็น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดมกลิ่นในขวดทีละชุด (1 ชุด จะมี 2 ขวด คือ ขวดที่มีกลิ่นและขวดที่ไม่มีกลิ่น) และบอกผู้ทำการทดสอบว่าขวดใบที่ 1 หรือใบที่ 2 มีกลิ่นแรงกว่ากัน ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าขวดใดมีกลิ่นแรงกว่าหรือไม่ได้กลิ่นทั้ง 2 ขวด ผู้ป่วยจะต้องเดาเลือกเอาขวดใดขวดหนึ่ง เพื่อนำไปคำนวณผลทางสถิติ แต่ถ้าผู้ป่วยตอบถูก ผู้ทำการทดสอบจะใช้สาร Phenyl ethyl alcohol ที่เจือจางลงกว่าเดิม โดยการลดขนาดของสารนี้ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ผู้ป่วยสามารถดมกลิ่นและบอกได้ถูกว่าขวดใดมีสารดังกล่าว แต่ถ้าผู้ป่วยตอบผิดผู้ทำการทดสอบจะใส่สารดังกล่าวที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถ้าใช้ความเข้มข้นสูงสุดแล้วผู้ป่วยยังไม่สามารถดมกลิ่นได้ จึงจะเรียกว่า “จมูกไม่ได้กลิ่น” (Anosmia)
- ค่า SDT ที่ได้จะแปลผลได้ดังนี้ คือ
- > -2 = จมูกไม่ได้กลิ่น (Anosmia)
- -2 ถึง > -3.5 = จมูกรับกลิ่นได้น้อยลงมาก (Severe hyposmia)
- -3.5 ถึง >-4.5 = จมูกรับกลิ่นได้น้อยลงปานกลาง (Moderate hyposmia)
- -4.5 ถึง > -6.5 = จมูกรับกลิ่นได้น้อยลงเล็กน้อย (Mild hyposmia)
- £ -6.5 = จมูกรับกลิ่นได้ปกติ (Normosmia)
- การวัดความสามารถในการแยกแยะและบอกว่าเป็นกลิ่นใด (Measurement of odor identification) จะเป็นการเลือกกลิ่นต่าง ๆ (เป็นกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยและสามารถบอกได้) มาทดสอบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใส่สารให้กลิ่นในขวดแล้วให้ผู้ป่วยดม แล้วให้บอกว่าคือกลิ่นอะไร หรือการใช้ชุดทดสอบสำเร็จรูปซึ่งมีตัวเลือกให้เลือกว่าแต่ละกลิ่นเป็นกลิ่นอะไร (การทดสอบวิธีนี้จะใช้ความเข้มข้นของกลิ่นที่มากหรือแรงกว่าระดับความเข้มข้นของกลิ่นที่น้อยที่สุดที่สามารถกระตุ้นเส้นประสาทรับกลิ่นของผู้ป่วยได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการวัดระดับความสามารถในการดมกลิ่นวิธีแรก)
การประเมินสมรรถภาพการรับกลิ่นนั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของการรับกลิ่นจริงหรือไม่ และเพื่อให้ทราบถึงความรุนแรงของความผิดปกติของการรับกลิ่นนั้นว่าอยู่ในระดับใด นอกจากนั้น คือ
- เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคของระบบประสาทบางชนิดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับกลิ่นร่วมด้วย
- เพื่อใช้ติดตามผลการรักษาโรคที่มีความผิดปกติของการรับกลิ่นทั้งการให้ยาและการผ่าตัด
- เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อให้เข้าใจถึงความผิดปกตินั้นและปรับตัวได้หากไม่สามารถรักษาได้
- เพื่อช่วยคิดค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของการรับกลิ่นจากการทำงานหรืออุบัติเหตุ
- เพื่อตรวจหาผู้ป่วยที่อาจแกล้งมีปัญหาเกี่ยวกับการรับกลิ่นเพื่อประโยชน์บางอย่าง
การรักษาจมูกไม่ได้กลิ่น/ได้กลิ่นน้อยลง
การรับกลิ่นเป็นเรื่องสำคัญ หากเมื่อใดเริ่มมีความผิดปกติของการดมกลิ่นเกิดขึ้น (ได้กลิ่นน้อยลงหรือไม่ได้กลิ่น) หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น คัดจมูกข้างเดียวกับข้างที่ไม่ได้กลิ่น มีเลือดกำเดา มีน้ำมูกปนเลือด และ/หรือมีอาการปวดศีรษะมาก ควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ (สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ)
- การรักษาที่สาเหตุ ในการรักษาจะต้องดูก่อนว่าเป็นสาเหตุที่รักษาได้หรือไม่ ด้วยการตรวจภายในโพรงจมูกและไซนัส การตรวจหาโรคหรือหาก้อนเนื้อที่อาจไปอุดบริเวณรับกลิ่น และ/หรือการตรวจด้วยการสแกนสมองซึ่งมีทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยแพทย์ทางสมอง โดยเฉพาะในรายที่ต้องแยกโรคเกี่ยวกับเนื้องอกหรือโรคทางสมอง ซึ่งแพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) และเมื่อแพทย์พบสาเหตุแล้วก็จะให้การรักษาไปตามสาเหตุครับ
- ถ้ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส (หวัด) หรือจากอุบัติเหตุทางศีรษะ ส่วนใหญ่จะรอเวลาเพื่อให้เส้นประสาทดีขึ้นมาเอง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก (เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสการกลับมาของการรับกลิ่นจะมีมากขึ้นอย่างค่อย ๆ เป็น ๆ ค่อย ๆ ไป) เพราะยังไม่พบว่ามีการรักษาใดจะช่วยในการกลับมาของการรับกลิ่น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าประสาทรับกลิ่นนั้นถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใดด้วย
- ถ้ามีสาเหตุมาจากโพรงจมูกอุดตันจากเยื่อบุโพรงจมูกบวมหรืออักเสบเรื้อรัง (เช่น จากโรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ) หรือจากริดสีดวงจมูก หรือจากเนื้องอกของช่องจมูกและโพรงไซนัส หากให้การรักษาที่สาเหตุก็จะทำให้การรับกลิ่นของผู้ป่วยดีขึ้นและหายขาดได้ เพราะจะทำให้หายใจได้สะดวกกลิ่นจะได้เข้าไปในโพรงจมูกได้ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาและการผ่าตัด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุนั้น ๆ หรือถ้าใช้ยาไม่ได้ผลก็อาจต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีการผ่าตัดแทนครับ (ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการพยากรณ์ของโรคดีกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือจากอุบัติเหตุทางศีรษะ)
- ถ้าอวัยวะรับกลิ่นไม่ทำงาน ก็ต้องมีการตรวจประสาทการรับกลิ่นว่าผิดปกติตรงไหน ที่เส้นประสาทหรือในสมอง เมื่อพบสาเหตุก็ให้การรักษา แต่บางครั้งบางสาเหตุก็ไม่สามารถรักษาได้ครับ คงทำได้เพียงแค่ทำใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับการสูญเสียการรับกลิ่นนั้นให้ได้
- การรักษาตามอาการ ในกรณีที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุ การรักษาจะได้แค่เพียงรักษาไปตามอาการ แล้วรอให้อาการดีขึ้นเอง เพราะมีรายงานการกลับคืนของการรับกลิ่นเมื่อเวลาผ่านไปถึง 2 ปี หรืออาจนานกว่านั้นเป็น 7 ปี ซึ่งตรงนี้ผู้ป่วยก็อย่าเพิ่งหมดหวังครับ เพราะยังมีโอกาสหาย แต่เมื่อไหร่นั้นก็ไม่อาจมีใครทราบได้
- การรักษาทางยา ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่มีคุณสมบัติในการรักษาเรื่องการกลิ่นในจมูกโดยตรง มีแต่เพียงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์แบบกินในกรณีที่เกิดจากการบวมหรืออักเสบของเส้นประสาทรับกลิ่น ทั้งนี้ เรื่องนี้แม้แต่แพทย์ด้วยกันเองก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าควรให้ยาเมื่อไรหลังเกิดพยาธิสภาพ ควรให้ยาในขนาดใด และควรให้ยานานเพียงใด ส่วนยาอื่น ๆ ที่อาจนำมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาครับ เช่น ยากินลดบวม ยาหยอดลดบวม ยาแก้แพ้ หรือยาพ่น เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ผู้ป่วยก็ต้องลองปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาถึงข้อดีข้อเสียของยาแต่ละชนิดดูครับ แล้วลองติดสินใจร่วมกันน่าจะดีที่สุด
- การฝึกดมกลิ่นที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (Olfactory trainin) ในกรณีที่สาเหตุของการสูญเสียการรับกลิ่นเกิดจากเชื้อไวรัสหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือเกิดจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อย ๆ (แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้กลิ่นเพิ่มขึ้นก็ตาม) อาจช่วยให้เส้นประสาทการรับกลิ่นที่เสียไปกลับมาทำงานได้ เพราะมีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของโรครุนแรงไม่มาก ถ้าฝึกดมกลิ่นที่คุ้ยเคยบ่อย ๆ จะมีโอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น (ในกรณีที่พยาธิสภาพนั้นทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น) หรือได้กลิ่นมากขึ้น (ในกรณีที่พยาธิสภาพนั้นทำให้จมูกได้กลิ่นน้อยลง) มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกดมกลิ่นที่คุ้ยเคยบ่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจทำให้อาการแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับกลิ่นน้อยลง (Hyposmia) แต่อาการยังไม่ดีขึ้น นอกจากว่าผู้ป่วยจะต้องทราบว่าสาเหตุที่จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงของตัวเองนั้นเกิดจากอะไรแล้ว ก็ควรจะทราบด้วยว่าสาเหตุใดอาจทำให้ความสามารถในการรับกลิ่นนั้นแย่ลงไปอีก และให้หลีกเลี่ยงสาเหตุนั้นเสีย เช่น
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส (โดยเฉพาะหวัดหรือจมูกอักเสบ) โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ (เช่น) เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสได้ดี (เพราะเชื้อไวรัสอาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นได้มากขึ้น) เช่น การวิ่ง การเดินเร็ว การเดินขึ้นลงบันได การว่ายน้ำ การเตะฟุตบอล การเล่นเทนนิส การเล่นแบดมินตัน การเล่นบาสเกตยอล การขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่มากระทบที่ศีรษะ เพราะอาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นได้มากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยา สารเคมี สารพิษ หรือกลิ่นฉุน ที่เมื่อสูดเข้าไปในโพรงจมูกหรือรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงสาเหตุที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกและ/หรือไซนัสเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้เยื่อบุจมูกบวมมาก (ในกรณีที่ผู้ป่วยสูญเสียการรับกลิ่นจากโรคจมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้และไม่แพ้ ไซนัสอักเสบ หรือจากโรคริดสีดวงจมูก) เพราะจะส่งผลทำให้อากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูกและไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูก ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลง (Conductive olfactory loss) หรือส่งผลให้บวมออกเป็นก้อนริดสีดวงจมูกหรือบวมมากเกินจนไปอุดรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ซึ่งทั้งริดสีดวงจมูกและไซนัสอักเสบต่างก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทรับกลิ่น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงได้ (Sensory olfactory loss) และอาจทำให้เยื่อบุจมูกบวมจนอากาศไม่สามารถเข้าไปในโพรงจมูกและไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บนเพดานของโพรงจมูกด้วย (Conductive olfactory loss) แต่ถ้าจะให้ดีเมื่อเป็นโรคเหล่านี้ก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยไว้จนเนิ่นนาน