สุขภาพ

วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้าหลังคลอด

วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้าหลังคลอด

ในช่วงหลังคลอดน่าจะเป็นเวลาที่คุณแม่ทุกคนควรตื่นเต้นร่าเริง และยินดีในความสำเร็จของคุณแม่ที่สามารถให้กำเนิดลูกน้อยที่แข็งแรงสมบูรณ์ให้สมกับที่รอคอยมานาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าคุณแม่หลังคลอดเกือบ 90% จะมีอาการเปลี่ยนแปลง และมากกว่าครึ่งหนึ่งของคุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ จะมีอาการซึมเศร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คือคุณแม่จะมีอาการร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด กังวล จิตใจอ่อนไหว นอนไม่หลับ ฯลฯ แต่หากได้รับคำแนะนำและการดูแลที่ถูกต้อง อาการซึมเศร้าหลังคลอดก็จะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน

คุณแม่ราวร้อยละ 10-15% จะมีอาการซึมเศร้าปานกลาง ซึ่งคุณแม่จะมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวัน คิดว่าชีวิตของตนนั้นไร้ค่า (โรคซึมเศร้าหลังคลอดจะไม่หายหากไม่ได้รับการรักษา) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการปลอบโยนและให้กำลังใจ ตลอดจนการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาการจะรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็น “โรคจิตหลังคลอด” คือคุณแม่จะมีอาการหงุดหงิด สับสน นอนไม่หลับ ถ้ามีใครขัดใจก็จะโกรธรุนแรง บางรายอาจมีอาการหูแว่ว บางรายอาจทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม โรคจิตหลังคลอดนี้ก็พบได้ไม่บ่อยมากนัก

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues, Maternity blues) เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดของคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด คือประมาณ 50-70% โดยคุณแม่จะมีอาการซึมเศร้าเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ฮอร์โมนที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนตรวจไม่พบในกระแสเลือด เชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ อารมณ์เศร้าของแต่ละคนจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มักจะปรากฏให้เห็นในช่วง 2-5 วันแรกหลังคลอด (ภาวะซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด หลังจากนั้นอาจจะพบได้บ้างประปราย บางทีอาจจะพบหลังคลอดไปแล้วหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งสาเหตุก็เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง และปัญหาต่าง ๆ ที่คุณแม่ยังแก้ไม่ตก) และจะเป็นอยู่นานประมาณ 7-10 วัน แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบว่าคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าหลังคลอดใหม่ ๆ โดยคุณแม่อาจจะรู้สึกสับสนแปรปรวน มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล จิตใจอ่อนไหว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารแต่ไม่ถึงกับกินอะไรไม่ได้เลย มีอาการเศร้า เหงา และอาจถึงกับร้องไห้ออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีมากขึ้นหากคุณแม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง

ในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ คุณแม่จะมีความสุขที่ได้อยู่เคียงข้างกับลูกน้อย แต่ไม่นานต่อมากลับพบว่าตนเองรู้สึกเศร้าสร้อย สับสน และเป็นห่วงเป็นกังวลเรื่องการทำหน้าที่แม่ เพราะกลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้บ้าง หรือกลัวว่าจะเลี้ยงได้ไม่ดีบ้าง คุณแม่ควรใจเย็น ๆ ให้เวลากับตนเองสักนิด เพราะการเป็นแม่ที่ดีนั้นต้องอดทนเรียนรู้ และต้องอาศัยทั้งเวลาและความตั้งใจ เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะเนรมิตให้เป็นยอดคุณแม่ได้ในทันที การที่คุณแม่และคุณพ่อได้เรียนรู้ว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง พยายามทำความเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหาหรือเตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด พอหลังคลอดแล้วคุณแม่ก็จะเอาชนะมันได้ ทำให้คุณแม่มีกำลังใจ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส และสนุกสนานกับการเลี้ยงดูลูกน้อย

แนวทางการรักษา : ควรดูแลในเรื่องของการปรับสภาพจิตใจเป็นหลัก (ดูในหัวข้อ “วิธีรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอด” ด้านล่าง) เช่น การให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือเป็นห่วงเป็นใย ฯลฯ เพียงแค่นี้อาการก็จะดีขึ้นเอง

โรคซึมเศร้าหลังคลอด

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) เป็นกลุ่มที่พบได้ประมาณ 10-15% ของคุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าทั้งหมด เป็นอาการต่อเนื่องจากภาวะซึมเศร้าแบบแรก คือถ้ามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิน 2 สัปดาห์เมื่อไหร่ก็จะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว โดยจะเริ่มเป็นตั้งแต่ในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอดขึ้นไป (อาจเป็นเมื่อลูกมีอายุได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรือไม่ก็หลังจากลูกมีอายุหลายเดือนแล้วก็ได้) และอาจจะคงเป็นอยู่ไปประมาณ 4 สัปดาห์ (ไม่เกิน 1 เดือน) อาการโดยรวมจะเหมือนกับกลุ่มแรกทั้งหมด แต่จะมีระดับความรุนแรงมากขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลาง และหลาย ๆ อาการจะเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันของคุณแม่ เช่น ไม่กิน ไม่ลุกออกจากเตียง เอาแต่นอนร้องไห้ จนเลี้ยงลูกไม่ได้ ต้องมีคนเข้ามาช่วยเลี้ยงลูก ฯลฯ (แต่กลุ่มนี้จะยังไม่ถึงกับหลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง คือจะไม่ทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเอง แม้ว่าอาจจะมีความคิดดังกล่าวก็ตาม)

โรคซึมเศร้าหลังคลอดนี้เป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แล้วอาการของโรคจะหายไปได้ในไม่ช้า เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะซับซ้อนและต้องดูแลรักษานานขึ้นและยากขึ้น โดยคุณแม่แต่ละคนจะมีอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดหลายอย่างและแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะมีอาการซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวังท้อแท้ คิดว่าชีวิตของตนนั้นไร้ค่า เครียด กังวล เบื่อหน่าย รู้สึกเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวัน ขาดสมาธิ มักรู้สึกว่าตัวเองผิด ความคิดหมกมุ่นสับสน และไม่สนใจตัวเองและเพศตรงข้าม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการปลอบโยนและให้กำลังใจ ตลอดจนการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาการจะรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็น “โรคจิตหลังคลอด”

วิธีรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอด

เนื่องจากอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุต่าง ๆ หลายอย่าง และอาจเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งคุณแม่เองจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเรารู้สาเหตุก็จะได้หาทางป้องกันและแก้ไขไว้ก่อนตั้งแต่ล่วงหน้า ก็จะทำให้อาการรุนแรงน้อยลง รักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด หรืออาจจะป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดขึ้นเลยก็ได้ครับ

  1. เริ่มป้องกันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ การป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ถ้าจะให้ได้ผลสูงสุดก็ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ กล่าวคือ การเตรียมพร้อมที่จะเป็นแม่นั่นเอง อย่างน้อย ๆ ก็ควรจะมีการวางแผนการมีลูกร่วมกันกับคุณพ่อว่าจะมีลูกเมื่อมีฐานะและอาชีพที่มั่นคง มีชีวิตการสมรสราบรื่น และว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ได้คุยปรึกษาหารือกันมาเป็นอย่างดีแล้วว่าพร้อมที่จะมีสมาชิกใหม่ รวมทั้งคุณแม่ควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะในขณะตั้งครรภ์ร่างกายจะต้องทำงานหนักเพื่อประคับประคองให้ลูกน้อยในครรภ์สมบูรณ์แข็งแรงและมีการคลอดที่ปลอดภัย หากการวางแผนเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป และทางที่ดีก่อนจะมีลูกว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่คลินิกให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์
  2. ฝากครรภ์เรื่องสำคัญ เมื่อเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องไปฝากครรภ์เพื่อขอรับคำแนะนำในเรื่องของการปฏิบัติตน รวมทั้งเพื่อจะได้รับการดูแลป้องกันและรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นดำเนินไปอย่างเป็นปกติ คุณแม่จะได้หมดห่วงและไม่ต้องมาวิตกกังวลกับเรื่องในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังการคลอดมากนัก
  3. คุณพ่อมีส่วนช่วยคุณแม่ได้อย่างมาก ก่อนการคลอดคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาหารือกันถึงการดำเนินชีวิตภายหลังจากที่ลูกน้อยได้คลอดออกมาแล้ว โดยคุยกันและตกลงกันไว้ก่อนว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ไม่ว่าจะในเรื่องของการเลี้ยงลูก การหุงหาอาหาร การทำงานบ้าน การจ่ายตลาด ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าคุณพ่อได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของคุณแม่ รวมทั้งคอยซักถามว่าคุณแม่ต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร โดยยอมตามใจคุณแม่บ้าง รวมถึงการระวังคำพูดไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจของคุณแม่ ก็จะช่วยให้คุณแม่ไม่เครียดได้เยอะเลยทีเดียวครับ เพราะในช่วงนี้คุณแม่กำลังมีอารมณ์ที่อ่อนไหวและเปราะบางอย่างมาก
  4. ดูแลและเอาใจใส่ตัวเอง คุณแม่อย่าเป็นกังวลในสิ่งที่ไม่ควรกังวล ถ้าบ้านจะสกปรกหรือรกไปบ้างก็ให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าทำให้ตัวเองต้องเครียดไปเสียทุกเรื่อง และควรคิดถึงตนเองในแง่ดีและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ ส่วนคุณพ่อก็อย่าเพิ่งเรียกร้องหรือคาดหวังว่าบ้านจะต้องสะอาด กลับมาแล้วอาหารจะต้องพร้อมเหมือนเช่นตอนที่ยังไม่มีลูก เพราะจะยิ่งทำให้คุณแม่วิตกกังวลและว้าวุ่นกับงานบ้านจนเกินไป
  5. หาคนช่วยเหลือและหากำลังใจ คุณแม่อาจให้บุคคลในครอบครัว คุณพ่อ เพื่อน ๆ หรือผู้ให้บริการดูแลเด็กอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกน้อย หรือให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยดูแลลูกคนอื่น ๆ ทำงานบ้าน คอยเตรียมอาหาร ฯลฯ หรือหาที่พึ่งทางใจ เช่น การโทรหาเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวเพื่อขอกำลังใจ นอกจากนี้ถ้ายังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง คุณแม่ก็ควรหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มช่วยเหลือต่าง ๆ หรือเข้าร่วมกลุ่มกับคุณแม่ที่คลอดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่โรงพยาบาลเพื่อถามไถ่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน คุณแม่จะได้รู้สึกมีกำลังใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่ตัวคนเดียว
  6. รู้จักระบายความรู้สึก ถ้าคุณแม่รู้สึกหงุดหงิด หรือรู้สึกอึดอัดคับข้องใจใด ๆ ก็อย่าเก็บไว้คนเดียว คุณแม่ควรพูดระบายถึงความรู้สึกที่อัดอั้นนั้นออกมากับใครสักคนที่วางใจได้ ซึ่งตอนนี้กำลังใจจากคุณพ่อจะช่วยได้มากทีเดียว เพราะการที่คุณพ่อคอยเป็นที่พึ่งทางใจให้กับคุณแม่และคอยให้กำลังใจ ชมคุณแม่บ่อย ๆ จะช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ด้วยดี หรือถ้าไม่มีที่จะระบายคุณแม่ก็อาจจะเขียนระบายความรู้สึกลงในกระดาษแล้วฉีกทิ้งเสียก็ได้ จะทำให้คุณแม่รู้สึกสบายใจและมีอารมณ์ที่ดีขึ้น
  7. เลิกวิตกกังวล อาการเจ็บปวด สับสน อ่อนเพลียในช่วงหลังคลอดนั้นเป็นเรื่องธรรมดา คุณแม่ไม่ควรเป็นกังวลเมื่อรู้ตัวว่ามีอาการซึมเศร้า พยายามดูแลรักษาตนเอง ควรอดทน รู้จักผ่อนคลาย และมีความเชื่อมั่นว่าจะต้องหายเป็นปกติได้ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใด เพราะถ้าคุณแม่คิดมาก มีอารมณ์ซึมเศร้าก็อาจจะทำให้มีอาการมากขึ้น
  8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผักและผลไม้สด รวมทั้งน้ำผลไม้คั้นสดนั้นเป็นแหล่งของวิตามินที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นและช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอาหารจำพวกขนมหวานหรือของกินจุบจิบนั้นควรหลีกเลี่ยง แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์บ่อย ๆ ในปริมาณน้อย และอย่าคิดอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
  9. ออกกำลังกายเบา ๆ คุณแม่อย่ามัวแต่อุดอู้อยู่แต่ในบ้านและหมกมุ่นอยู่กับการเลี้ยงลูกมากจนเกินไป คุณแม่ควรปลีกเวลาออกไปเดินเล่นกับลูกหรือออกกำลังกายเบา ๆ นอกบ้านในสวนอันร่มรื่นบ้าง ส่วนการเล่นโยคะ หรือพิลาทิสก็ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้เช่นกัน ซึ่งการออกกำลังกายนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและมีอารมณ์แจ่มใสยิ่งขึ้น
  10. พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงกลางวันคุณแม่ควรพยายามงีบหลับบ้างและหาคนช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืน เพื่อที่จะได้มีเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เพราะร่างกายที่อ่อนเพลียนั้นจะทำให้อาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่เลวร้ายลง คุณแม่ต้องระวังอย่าทำอะไรเกินกำลังตนเอง อย่าฝืนทำในสิ่งที่ทำไม่ไหว เมื่อเหนื่อยนักก็ควรเอนหลังนั่งหรือนอนสบาย ๆ ยกขาสูง ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ฟังเพลงโปรด อ่านหนังสือสักเล่ม ก็จะช่วยให้สดชื่นขึ้น

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button